CSR – กาชาด – พม.ชุมพร ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนในครอบครัวยากจน

       เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นางสาววัชรี ศรีเสือ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชุมพร มอบหมายให้ นางสาวณัฐนารี ทองงาม นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการ และนางสาววารุณี พรหมศรี ร่วมกับ เหล่ากาชาดจังหวัดชุมพร ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุราษฎร์ธานี ชุมพร คณะครูโรงเรียนสวีวิทยา ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) จังหวัดชุมพร ผู้แทนจากบริษัท สงวนยางยนต์ชุมพร จำกัด ร่วมลงพื้นที่ ตำบลนาสัก ตำบลสวี และตำบลครน อำเภอสวี เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนในครอบครัวยากจน จำนวน 3 ครอบครัว มีเด็กจำนวน 4 ราย ดังนี้
       ครอบครัวที่ 1
       – นักเรียนชาย อายุ 17 ปี อาศัยอยู่ที่ตำบลนาสัก บิดาและมารดาแยกทางกัน ทิ้งเด็กให้ย่าดูแลตั้งแต่อายุ 2 ปี เด็กพักอาศัยเพียงลำพังในกระท่อมเล็กๆ ที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่สวนของอา ซึ่งมีบ้านของอาอยู่ใกล้เคียงกัน โดยใช้ไฟฟ้าที่พ่วงต่อมาจากบ้านของอา อาของเด็กมีอาชีพค้าขายขนม ของฝาก (เร่ขายตามงานต่างๆ) ย่าของเด็กไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ และต้องดูแลหลาน ซึ่งอยู่ในวัยเรียน อีก 3 คน (บุตรของลูกสาว ซึ่งเป็นอาของเด็ก) เด็กต้องทำงานก่อสร้าง ช่วงวันหยุด วันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อหารายได้ ได้ค่าแรงวันละ 400 บาท
       ครอบครัวที่ 2
       – นักเรียนหญิง อายุ 14 ปี อาศัยอยู่ที่ตำบลสวี เด็กอาศัยอยู่ในบ้านญาติของมารดาเพียงลำพัง บิดาและมารดาแยกทางกัน มารดาเด็กมีครอบครัวใหม่ในต่างตำบล ยายเป็นผู้ส่งเสียและดูแลเด็ก โดยยายไม่ได้ประกอบอาชีพ ครอบครัวมีรายได้จากตาเลี้ยงของเด็กเพียงคนเดียว ตาเลี้ยงประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้เดือนละประมาณ 10,000 – 12,000 บาท บ้านของยายตั้งอยู่ห่างจากบ้านของเด็ก ประมาณ 500 เมตร สาเหตุที่เด็กต้องแยกมาพักอาศัยอยู่คนเดียว เนื่องจากบ้านของยายมีพื้นที่คับแคบ และอยู่อาศัยกันหลายคน (ยาย ตาเลี้ยง และน้องชายของเด็ก) มารดาเด็กจะมาเยี่ยมเป็นครั้งคราว และรับผิดชอบเพียงจ่ายค่าไฟฟ้าบ้านที่เด็กอาศัยอยู่
       ครอบครัวที่ 3
       – นักเรียนหญิง อายุ 14 ปี และนักเรียนชาย อายุ 17 ปี อาศัยอยู่ที่ตำบลครน พักอาศัยอยู่เพิงพักชั่วคราว สภาพไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่มีประตู-หน้าต่าง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ สาเหตุที่ต้องพักอาศัยในเพิงพักดังกล่าวเนื่องจากที่พักอาศัย ยังปลูกสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ในการก่อสร้าง บิดาและมารดาของเด็กทั้งสองประกอบอาชีพรับซื้อของเก่า ซึ่งมีรายได้น้อย ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
       1. เหล่ากาชาดจังหวัดชุมพร
            – มอบเงินสงเคราะห์ครอบครัว จำนวน 3,000 บาทต่อครอบครัว
– มอบเครื่องอุปโภคบริโภคและเครื่องนอน 1 ชุดต่อครอบครัว
       2. สำนักงานพัฒนาสังคมฯ
           – พิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นเงินสงเคราะห์ครอบครัว จำนวน 3,000 บาทต่อครอบครัว
           – ให้ความช่วยเหลือจากกองทุนคุ้มครองเด็ก โดยนำข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนคุ้มครองเด็กจังหวัดชุมพร
       3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ดำเนินการประสานช่างชุมชน ในการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
       4. ศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) จังหวัดชุมพร
          – ดร.สุรินทร์ เหล่าพัทรเกษม ประธานศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ (CSR) มอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน คนละ 1,000 บาท
          – มอบน้ำดื่ม จำนวน 10 แพ็คต่อครอบครัว
          – สนับสนุนวัสดุก่อสร้างในการปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ให้กับครอบครัวที่ 1 และ ครอบครัวที่ 3
       5. บริษัท สงวนยางยนต์ชุมพร จำกัด
         – มอบเครื่องอุปโภคบริโภคและเครื่องนอน 1 ชุดต่อครอบครัว
         – สนับสนุนวัสดุก่อสร้างในการปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ให้กับครอบครัวที่ 1 และ ครอบครัวที่ 3


Share: